เรียกได้ว่า “ข้าว” เป็นอาหารมื้อหลักของคนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยรับประทานข้าวกันทุกครัวเรือน ซึ่งบรรพบุรุษของเรามีประวัติการเพาะปลูกข้าวมาอย่างยาวนานกว่า 5,500 ปี โดยมีหลักฐานว่าผู้คนในสมัยก่อนได้ใช้แกลบข้าวเป็นหนึ่งในส่วนผสมที่นำมาปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผา พบได้ที่บ้านเชียง อ.โนนนกทา และ ต.บ้านโคก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น อีกทั้งยังเคยมีการขุดพบเมล็ดข้าวที่ถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นข้าวเหนียวเมล็ดขนาดใหญ่ นอกจากนั้นมีหลักฐานการปลูกข้าวแถบชายฝั่งทะเลที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยพบร่องรอยเถ้าถ่านในดินและรอยของแกลบข้าวบนเครื่องปั้นดินเผา และในประเทศไทยมีประวัติในช่วงต่าง ๆ ที่พบได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นอู่ข่าวอู่น้ำ จนในปัจจุบันข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทย และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกว่าข้าวของไทยมีรสชาติที่ดีและมีคุณภาพสูง เพราะมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากทั้งสภาพดิน สภาพน้ำและลมฟ้าอากาศที่พอเหมาะ

การปลูกข้าวในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นพบว่า ข้าวเมล็ดยาวพบมากในภาคใต้และภาคกลางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนข้าวเมล็ดป้อมพบมากในทางภาคเหนือและอีสาน โดยในภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกข้าวคิดเป็น 45% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ โดยนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก และรองลงมาคือภาคเหนือและภาคกลางมีพื้นที่เพาะปลูกเท่ากัน 25% การแบ่งชนิดของข้าวทำได้หลายแบบตามมาตรการที่ใช้แบ่ง เช่น แบ่งตามประเภทของเนื้อแข็งในเมล็ดข้าวสาร แบ่งตามรูปร่างของเมล็ดข้าวสาร แบ่งตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก แบ่งตามลักษณะความไวต่อช่วงแสง แบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยว และแบ่งตามฤดูปลูก เป็นต้น

ประเภทของข้าว สามารถแบ่งตามสายพันธุ์ได้เป็น 4 ประเภท คือ
- ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา
- ข้าวเหนียว ได่แก่ ข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ
- ข้าวขาว ได้แก่ ข้าวเหลืองประทิวชุมพร ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้
- ข้าวเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมันปู ข้าวสังข์หยดพัทลุง

ขณะที่ข้าวนั้นถูกพบมากในทวีปเอเชีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกทั่วไปในหลายประเทศ โดยสามารถแยกย่อยได้เป็น 1. indica มีปลูกมากในเขตร้อน 2. japonica มีปลูกมากในเขตอบอุ่น และ 3. Javanica สำหรับสารอาหารที่อยู่ในข้าวนั้น มีแป้งเป็นหลัก มีคาร์โบไฮเดรต 71-77% โปรตีน 5-8% โดยข้าวกล้องมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน กรดแพนโทเทนิค และกรดโฟลิค เมื่อผ่านการขัดสีเอาผิวรำออกจนเหลือเป็นข้าวขาวหรือข้าวสาร วิตามินเหล่านี้จะลดลงอย่างมาก ในข้าวกล้องมีเส้นใยอาหารสูงกว่าข้าวสาร 2-3 เท่า ซึ่งเส้นใยอาหารมีประโยชน์ต่อการขับถ่ายกากอาหารและดูดซับสารพิษในร่างกาย เป็นต้น
