ขิง (Ginger) พืชสมุนไพรที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี มักถูกนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม เมนูของหวาน และนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากมีสรรพคุณที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดดเด่นในเรื่องของรสชาติและกลิ่น และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป
ขิงเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ขิงแดง ขิงเผือก ขิงแกลง สะเอ เป็นต้น มีลักษณ์เป็นพืชมีเหง้าใต้ดินเป็นข้อ ๆ มีเนื้อสีขาวหรือเหลืองอ่อน ส่วนปลายสุดของข้อจะเป็นที่แทงยอดหรือที่เรียกกันว่า ลำต้นเทียม ส่วนลำต้นจริงสูงโผล่พ้นดินประมาณ 50-100 ซ.ม. ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับสองแถว เป็นใบรูปหอกปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ส่วนดอกเป็นช่อทรงกระบอก แทงขึ้นมาจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืออมเขียว โดนกลีบดอกม้วนห่อ ปลายกลีบผายกว้างออก

สรรพคุณของขิง
ส่วนของขิงที่นำมารับประทานนั้นมาจากส่วนเหง้า มีสรรพคุณเป็นยาแก้จุกเสียด ขับลม และแก้อาการอาเจียน สำหรับสตรีมีครรภ์ หรือผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน ควรระมัดระวังการรับประทานขิงหรือปรึกษาแพทย์ก่อน

นำขิงมาทำเมนูอะไรดี?
- น้ำขิง
- เต้าทึงน้ำขิง
- บัวลอยน้ำขิง
- ไก่ผัดขิง
- เต้าหู้ผัดขิง
- แซลมอนซอสขิง
- หมูผัดซอสขิง
- ไก่ทอดขิงกรอบ
- ปลาช่อนผัดขิง

คุณค่าทางโภชนาการของขิง 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม
- เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- โปรตีน 0.4 กรัม
- ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 18 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
- ไนอะซีน 1 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
- ไธอะมีน 0.02 มิลลิกรัม
- ไลโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม
- เบต้า-คาโรทีน 10 ไมโครกรัม