September 9, 2024
Bangkok, Thailand
ความรู้รอบตัว ธุรกิจ

เทคนิคการบริหารบุคคลที่มุ่งเน้นให้เก่งขึ้นที่หลายองค์กรนำไปใช้กับพนักงาน

ในการสรรหาคนที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถ มาทำงานในองค์กรนั้นว่ายากแล้ว แต่การจะรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ นั้นยากยิ่งกว่า เพราะคนเก่งส่วนใหญ่จะมีความโดดเด่นในหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นหากองค์กรต้องการรักษาคนเก่งเหล่านั้นไว้ ก็ต้องดูแลคนเก่ง ๆ เหล่านั้นให้ดี หรือไม่ก็ต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เขามีให้เป็น เพราะหากองค์กรใช้งานไม่ดูทิศถูกทางอาจจะทำให้คนเก่งที่อยู่ในมือดูไร้ค่าได้ ดังนั้นเรื่องการบริหารคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่บริษัทหรือองค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่องศาสตร์แห่งการบริหารคนเก่ง หรือ Talent Management ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กรต่าง ๆ ที่เริ่มเห็นความสำคัญในเรื่องนี้แล้วหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจังมากขึ้น โดยระบบในการบริหารจัดการคนเก่งให้มีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายขั้นตอน ซึ่งรายละเอียดคร่าว ๆ แต่ละกระบวนการนั้นมีดังนี้

ระบบบริหารจัดการคนเก่ง (Talent Management System)

1.การสรรหาแหล่งบุคลากรคุณภาพ (Sourcing)

การรอให้คนเก่ง ๆ มาหาบริษัทบางทีอาจจะยากกว่าการที่บริษัทจะไปหาคนเก่งด้วยตนเอง โดยการพุ่งตรงไปหาคนเก่งที่มีศักยภาพและคุณภาพ อย่าง มหาลัยที่เป็นชั้นนำ คือแหล่งสรรหาคนเก่งที่มีความสามารถที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่ง บริษัทต่าง ๆ มักมาคัดเลือก คนเก่ง กันที่นี่ตั้งแต่นิสิตนักศึกษายังเรียนไม่จบกันเลยทีเดียว องค์กรใหญ่มีชื่อเสียงมักมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแต่ละคณะตลอดจนมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพไว้ เพื่อให้อาจารย์ต่างๆ ที่เห็นแววคนเก่งได้แนะนำให้กับองค์กรของตน หรือไม่ก็อาจมีการจัด Job Faire ที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ โดยตรง โดยมุ่งไปยังมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรคุณภาพเป็นอันดับแรก มีโปรแกรมการฝึกงานอย่างเป็นทางการ โดยหลายบริษัทในยุคนี้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการรุกสู่ตลาดแรงงานมาเป็นการสร้างมูลค่าให้กับระบบฝึกงานของตนเองเพื่อดึงคนที่มีศักยภาพให้มาฝึกงานด้วย แต่ทั้งนี้บริษัทจำเป็นต้องรู้เป้าหมายและลักษณะขององค์กรให้ชัดเจน เพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการขององค์กรมากที่สุด

2.การคัดกรอง (Screening)

การคัดกรองเป็นอีกกระบวนการที่สำคัญ เพราะบางทีคนเก่งบางคนก็วัดได้ยาก ฉะนั้นผู้ทำหน้าที่คัดกรองควรมีความรู้รอบด้าน รวมถึงรู้เรื่องของพฤติกรรมมนุษย์และจิตวิทยาเป็นอย่างดีด้วย เพราะในบางครั้งอาจจะมีคนเก่งมาให้คัดกรองเป็นจำนวนมาก แต่การคัดกรองคนเก่งที่ใช่จะทำให้ประหยัดเวลาในกระบวนการสรรหาได้ค่ะ

3.การคัดสรร (Selection)

ในการคัดสรรจะต่างจากการคัดเลือกโดยตรงที่เราจะมีความประณีตและละเอียดอ่อนในการเลือกอะไรแต่ละอย่างแบบดีที่สุด เมื่อผ่านกระบวนการคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติน่าสนใจมาแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดสรรคนที่เหมาะสมกับองค์กรให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเลือกคนเก่งให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรในโลกการทำงานจริงเรื่องวัฒนธรรมองค์กรก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างอาจไม่เหมาะกับคนเก่งบางประเภท หากบริษัทได้คนเก่งที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไปก็อาจทำให้อยู่กันได้ไม่นาน

4.การใช้คนเก่งทำงาน (Deployment)

ลูกน้องที่เก่งจะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพก็ย่อมต้องมีเจ้านายที่เก่งบริหารคนเก่งเป็นด้วย หากองค์กรมีการจัดการบริหารคนเก่งไม่เป็น คนเก่งคนนั้นอาจจะอยู่กับคุณได้ไม่นาน หรือใช้ทำงานที่เขาไม่ได้แสดงศักยะภาพ คนเก่งอาจจะไร้ค่ากับบริษัท หรือทำให้เขาลดศักยภาพ และอาจเป็นเหตุให้อยู่กันไม่ยืด ดังนั้นการที่จะอยากได้คนเก่งมาร่วมงานด้วยก็ต้องทำงานกับคนเก่งให้เป็น และใช้งานให้เป็นด้วย

5.โปรแกรมการพัฒนาคนเก่ง (Development)

นี่อาจเป็นกระบวนการที่จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืนที่สุด เพราะคนเก่งทุกคนล้วนแล้วแต่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นทั้งนั้น องค์กรที่มีการไกล มีโปรแกรมพัฒนาคนเก่งไว้รองรับ ย่อมทำให้คนเก่งรู้สึกมีค่าและได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ หากองค์กรไม่มีโปรแกรมพัฒนาคนเก่งก็อาจทำให้คนเก่งคนนั้นย้ายองค์กรหรือถูกซื้อตัวไปได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามองค์กรที่มีโปรแกรมการพัฒนาคนเก่งที่ชัดเจนและโดดเด่นก็จะดึงดูดคนเก่งจากแหล่งอื่นให้อยากมาร่วมงานกับองค์กรได้เช่นกัน โปรแกรมพัฒนาคนเก่งก็มีตั้งแต่โครงการพัฒนาทักษะให้เก่งยิ่งขึ้น, การพัฒนาด้านการบริหาร, การมีงานที่ท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ, หรือแม้แต่การส่งเสริมเรื่องการศึกษาต่อในระดับสูง เป็นต้น

การทำให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถมากขึ้นหรือเก่งขึ้นในแบบของบริษัท

เมื่อการแข่งขันสูง หลายองค์กรจึงต้องมีการปรับแผนหันมาสร้างสร้างบุคลากรของตัวเองให้เก่งขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะแตกต่างจากการรับฝึกงานก็ตรงที่เป็นการเทรนด์จากพนักงานจริงที่รับมาทำงานแล้ว และมักเป็นพนักงานที่อาจยังไม่เก่งแต่มีแววในการพัฒนาได้ บางบริษัทถึงขั้นจัดเข้าโปรแกรมพิเศษ เพื่อให้พัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ครบทุกรอบด้านให้เก่งมากขึ้น

6.การรักษาคนเก่งให้อยู่กับบริษัทนานๆ

ซึ่งถือว่าเป็นอีกกลยุทธ์เด็ดที่จะทำให้สามารถซื้อใจพนักงานเก่งๆ ให้ทำงานกับองค์กรได้ในระยะยาว โดย ขั้นตอนของการรักษาพนักงานให้คงอยู่กับบริษัทนี้อาจเป็นหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่มีเรื่องไหนเด่นหรือด้อยไปกว่ากัน ตั้งแต่เรื่องอัตราจ้างที่เหมาะสมดึงดูดใจ, สวัสดิการที่คุ้มค่า, การพัฒนาวิชาชีพที่เหมาะสม, การศึกษาต่อ, ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการทำงาน เป็นต้น

วิธีดึงดูดใจให้คนที่เก่งๆ อยากจะอยู่ร่วมงานกับองค์กร

  • มิติการเรียนรู้และพัฒนา คนเก่งชอบที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หากทำงานแล้วไม่ได้รับตรงนี้ก็อาจทำให้อยู่ยาก เช่นเดียวกับองค์กรที่ไม่มีแผนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็จะไม่ดึงดูดใจสำหรับคนที่มีความเก่งเช่นกัน
  • สิ่งแวดล้อมในการทำงานในยุคนี้ถือว่าเป็นอะไรที่สำคัยมาก เพราะมีหลายๆ องค์กร รวมถึงองค์กรของคนรุ่นใหม่ ต่างใช้กลยุทธ์ในการดึงคนเก่งไปร่วมงาน ตั้งแต่การสร้างออฟฟิศให้ดูน่าอยู่ น่าทำงาน มีการสนับสนุน Work-Life Balance ที่ดี คุณภาพงานก็จะดีด้วย นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังอาจหมายถึงเรื่องของคนไปจนถึงระบบการทำงานด้วย หากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้น่าทำงาน คนเก่งก็อยากจะมาร่วมงานด้วย และดึงคนเก่งอื่นๆ ให้มาร่วมงานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการใส่ใจในเรื่องนี้อาจจะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาเลย
  • รางวัลและผลตอบแทนอัตราจ้างเป็นสิ่งสำคัญที่ ฝ่าย HR ต้องทำการเจรจาให้ดี ให้อยู่ในจุดที่พอใจทั้งสองฝ่าย ส่วนเรื่องรางวัลก็เป็นสิ่งการันตีความสำคัญให้กับพนักงานขยันทำงานขึ้นได้เช่นกัน โดยรางวัลนี้อาจมาในรูปแบบรางวัลโดยตรงอย่างเช่น พนักงานดีเด่น หรือแม้แต่รางวัลของหน่วยงาน บางทีรางวัลก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัตถุเสมอไป อาจจะเป็นการให้คำชมเชย การยกย่อง หรือส่งเสริมให้เป็นหัวหน้างาน ก็ถือเป็นรางวัลที่ดีได้เช่นกันค่ะ
  • ความท้าทายใหม่ๆ และโอกาสที่น่าสนใจ คนเก่งชอบความท้าทาย และมักไม่ชอบอะไรที่ทำจำเจ หากมีโอกาสให้เขาได้ลองทำงานใหม่ๆ เสมอๆ หรือมีโจทย์ที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาความสามารถของคนเก่งให้เก่งขึ้นแล้วก็ยังทำให้เขาอยากทำงานกับองค์กรต่อไปเรื่อยๆ ได้ด้วย

กล่าวโดยสรุป

ทั้งนี้ในการบริหารบุคคลที่มุ่งเน้นให้คนเก่งขึ้น หรือจัดการกับคนที่เก่งๆ คนที่มีพรสวรรค์ ให้ทำงานอยู่ร่วมกับองค์กรไปได้นานๆ นั้นจำเป็นต้องมีหลายปัจจัยเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว เพราะหากคุณบริหารคนเก่งโดยใช้เงินเป็นหลัก องค์กรอื่นๆ ก็อาจใช้เงินซื้อคนเก่งไปได้เช่นกัน ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) หรือแม้แต่องค์กรเองก็ควรใส่ใจปัจจัยด้านอื่นๆ ให้รอบด้านด้วย อาทิเช่น ด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน, ความก้าวหน้าในการทำงาน, ตลอดจนงานที่ท้าทาย เพราะอันที่จริงคนเก่งหลายๆ คนต้องการพัฒนาตนเองและอยากแสดงออกถึงศักยภาพที่ดีที่สุดของตนเองออกมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และองค์กรให้ได้มากที่สุดค่ะ